ประเพณีกำฟ้า

งานประเพณีกำฟ้า เป็นงานบุญพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่งของลาวพวนบ้านป่าแดง อำเภอตะพานหิน ที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการบูชาหรือเคารพเทวดาฟ้าดิน เชื่อกันว่าเมื่อได้ทำบุญประกอบพิธีกรรมตั้งบายศรีบูชาขอพรจากเทพยดาผู้รักษาฟ้าแล้วจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เชื่อกันว่าเสียงฟ้าร้องคือ “สัญญาณฟ้าเปิดประตูน้ำ” เพื่อให้ชาวนา ชาวไร่ มีน้ำประกอบอาชีพเกษตรกรรม การพยากรณ์เสียงฟ้าร้องของลาวพวนมีดังนี้ เสียงฟ้าร้องมาจากทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พยากรณ์ว่าฝนจะดีมีน้ำเพียงพอ พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ ประชาชนจะมั่งมีศรีสุข ถ้าฟ้าร้องดังมาจากทิศใต้ ฝนจะตกน้อย เกิดความแห้งแล้งพืชผลได้รับความเสียหาย ถ้าฟ้าร้องเสียงดังมาจากทิศตะวันออก ฝนจะตกปานกลาง พืชในที่ลุ่มได้ผลดี พืชในที่ดอนจะเสียหาย ถ้าเสียงฟ้าร้องมาจากทิศตะวันตกจะเกิดความแห้งแล้งข้าวยากหมากแพงจะรบพุ่งฆ่าฟันกัน การกำหนดวันกำฟ้า ประเพณีกำฟ้า ของลาวพวนบ้านป่าแดง กำหนดวันงาน 2 วัน คือวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำต้อน และวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำฟ้า วันกำต้อน (ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3) เป็นวันเตรียมการก่อนวันงาน 1 วัน ทุกคนจะหยุดทำงาน กลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของตน ตั้งศาลพระภูมิบายศรีของพรจากเทพยดาช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลตามคำที่กล่าวว่า “ฝนบ่ละเดือนสาม ฝนบ่หามเดือนสี่ละแท้ ๆ คือเดือนยี่เดือนเดียว” ชาวพวนจะจัดเตรียมอาหารหวานคาว ข้าวปุ้น (ขนมจีน) เผาข้าวหลาม ไว้ทำบุญในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันกำฟ้า และจัดไว้เลี้ยงดูแลญาติพี่น้องตลอดจนแขกที่มาเยือนตอนค่ำจะเป็นการเริ่มกำ หมายถึงทุกคนต้องหยุดงานดังคำกล่าวที่ว่า “ครกบ่เห้อต้องน้องบ่เห้อตำ” กลางคืนจะมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เตะหมากเบี้ย ต่อไก่ ลูกช่วง รำแคน โดยออกไปเล่นตามคุ้มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน วันกำฟ้า (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3) เป็นวันงาน ตอนเช้าจะทำบุญตักบาตรสู่ขวัญข้าว ตอนกลางวันแสดงการละเล่นพื้นบ้าน เช่น นางกวัก นางดัง นางสาก ถ่อเส้า ขี่ม้าหลังโปะ ไม้อื้อ มอญซ่อนผ้า ตอนเย็นจะนำข้าวปลาอาหารมาร่วมรับประทานกัน ตอนกลางคืนจะเล่นเตะหมากเบี้ย ลูกช่วง ต่อไก่ รำแคน มอญซ่อนผ้า

 

P1080112           kumfha

ที่มาhttp://www.hoteldirect.in.th/เทศกาล/พิจิตร

ใส่ความเห็น